มวยหยางสายต่ง
อาจารย์ ต่ง อิ๋ง เจี๋ย Great Master Dong Ying Chieh, (Kai Ying, 2012)
ประวัติการเผยแพร่มวยไท่จี๋เฉวียนในประเทศไทย
ไท่จี๋เฉวียน หรือไท่จี๋ เป็นภาษาจีนกลาง ส่วนคนไทยจะรู้จักและนิยมเรียกว่า มวยไท่เก๊ก ซึ่งเป็นชื่อเรียกภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งทั้งสองคำนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน
ก่อนหน้าปี พ.ศ 2492 ยังไม่ปรากฎว่ามีการเรียนการสอนมวยไท่จี๋เฉวียนกันในประเทศไทยแต่อย่างใด จนในราวปีเดียวกันนี้ ได้มีคหบดีเชื้อสายจีนกลุ่มหนึ่งสนใจอยากจะเรียนมวยไท่จี๋เฉวียนเพื่อเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ โดยทราบว่า ท่านต่งอิงเจี๋ยเป็นศิษย์เอกของมวยไท่จี๋สายตระกูลหยาง จึงได้ขอให้ท่านหลิ่มซิมหงอ เป็นตัวแทนไปเชิญท่านต่งอิงเจี๋ย เดินทางมาสอนมวยไท่จี๋ในประเทศไทย ท่านต่งอิงเจี๋ยได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อทำการสาธิตมวยไท่จี๋เฉวียน และสอนมวยเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากท่านมีภารกิจอื่น ท่านจึงได้ให้บุตรของท่าน คือท่านต่งหูหลิ่งเดินทางมาสอนอย่างเป็นทางการ โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก อาหารการกินและค่าครู คณะผู้บุกเบิกซึ่งมีทั้งหมด 7 ท่านรวมทั้งท่านหลิ่มซิวหงอได้ร่วมลงขันจ่ายไป รวมทั้งหมดประมาณ 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาท) ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากในยุคเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
นับว่าตระกูลต่งมีคุณูปการต่อวงการไท่จี๋เฉวียนในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ส่วนทั้งท่านหลิ่มซิวหงอและคณะที่ไปเชิญท่านต่งอิงเจี๋ยมาก็นับว่าเป็นผู้แผ้วทางให้มวยไท่จี๋เฉวียนหยั่งรากอันมั่นคงลงในประเทศไทย ศิษย์ของท่านต่งหูหลิ่งมีอยู่มากมาย เนื่องจากท่านเดินทางมาสอนมวยไท่จี๋เฉวียนอยู่นานหลายปี ซึ่งบรรดาศิษยานุศิษย์เหล่านี้ก็ได้นำมวยไท่จี๋ที่ร่ำเรียนมาไปถ่ายทอดให้กับผู้สนใจรุ่นหลัง จนมวยหยางไท่จี๋เฉวียนที่แพร่หลายออกไปในแทบทุกจังหวัดของเมืองไทยล้วนมีที่มาจากลูกศิษย์ของท่านต่งอิงเจี๋ยและต่งหูหลิ่งทั้งสิ้น
อาจารย์ทวด ต่งหูหลิ่ง (Dong Hu Ling) ถ่ายรูปคู่กับ อาจารย์ปู่ หม่า จิ่น ชวน (Ma Jin Chuan)
อาจารย์ต่งจี้อิงมาสอนมวยไท่จี๋ที่เมืองไทย เมื่อปี พ.ศ. 2525. เครดิตภาพจาก หนังสือ Learning Tai Chi Chuan โดย อ. ต่งจี้อิง, 2012.